วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คนรุ่นใหม่กับลิเกไทย

  

  

   หากพูดถึงการแสดงพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาเป็นเวลานาน และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนคงนึกถึง “ลิเก” การแสดงพื้นบ้านของทางภาคกลางที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่และคนวัยสูงอายุ และเมื่อพูดถึงลิเก ก็จะนึกตามไปถึงเครื่องแต่งกายอันแพรวพราว เสียงหวานไพเราะและท่ารำอ่อนช้อยของนักแสดง รวมไปถึงภาพแม่ยก พ่อยกที่คอยให้กำลังใจนักแสดงชิดติดขอบเวที

     ความเป็นมาของลิเก ในเมืองไทยมีมานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อมูลจากสารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต ปราชญ์ด้านศิลปะการแสดง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลิเกในยุคต่างๆ ไว้ว่า ลิเกในยุคแรก คือ “ยุคลิเกสวดแขก” เป็นยุคที่ชาวไทยมุสลิมจากภาคใต้เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และนำการแสดงลิเกเข้ามาด้วย แต่ในสมัยนั้นจะสวดเป็นลำนำอย่างแขกเข้ากับจังหวะรำมะนา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ลูกหลานชาวไทยมุสลิมจึงได้ใช้ภาษาไทยแทนภาษามลายูในการแสดง ต่อมาจึงเป็นยุคของ “ลิเกออกภาษา” ที่นำเพลงออกภาษาของการบรรเลงปี่พาทย์ และการสวดคฤหัสถ์ ในงานศพสมัยรัชกาลที่ 5 มาต่อท้ายการแสดงลิเกโดยลิเกจะเริ่มต้นการแสดงด้วยการสวดแขกซึ่งเป็นการออกภาษามลายูเพราะถือว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล แล้วค่อยต่อด้วยภาษาอื่นๆ เช่น มอญ จีน ลาว ญวน พม่า เขมร ญี่ปุ่น ฝรั่ง ชวา อินเดีย ตะลุง ความสนุกของลิเกในยุคนี้อยู่ที่ทำนองของเพลง ซึ่งนำมาจากชาวต่างชาติต่างๆ และแต่งเพิ่มขึ้น รวมถึงเอาเครื่องดนตรีที่หลากหลายมาใช้ เช่น กลองแขก ตีประกอบเพลงแขก การแสดงออกภาษาเป็น การแสดงตลกชุดสั้นๆ ติดต่อกันไป ต่อมาปรับปรุงการแสดงมาเป็นเริ่มต้นด้วยสวดแขกแล้วต่อด้วยชุดออกภาษาแสดงเป็นละครเรื่องยาวอีก 1 ชุด
       มาถึง “ยุคลิเกทรงเครื่อง” ที่เป็นการแสดงลิเกออกภาษาในส่วนที่เป็นสวดแขก ได้กลายเป็น “การออกแขก” มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร ส่วนเพลงออกภาษาต่างๆ กลายเป็นละครเต็มรูปแบบ ส่วนเครื่องแต่งกายจะหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเรียกว่า ลิเกทรงเครื่อง และมีการแสดงในโรงและเก็บค่าเข้าชม ในยุคนี้ลิเกทรงเครื่องแพร่หลายไปทั่วภาคกลางอย่างรวดเร็ว มีวิกลิเกเกิดขึ้นมากมาย มีการนำเนื้อเรื่องและขนบธรรมเนียมของละครรำมาใช้ จนถึงขั้นแสดงเรื่องอิเหนา ตามบทพระราชนิพนธ์ ความนิยมของลิเกมีถึงขนาดว่าช่วงปลายยุคนี้เริ่มมีการออกอากาศการแสดงลิเกทางวิทยุเลยทีเดียว


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ “ยุคลิเกลูกบท” ใช้ปี่พาทย์แทนรำมะนาและเปลี่ยนมาแต่งกายแบบสามัญ เนื่องจากเป็นยุคสภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่ความนิยมในการชมลิเกไม่ได้ลดน้อยลง ยังคงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เนื้อเรื่องที่แสดงเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ ต่อมาจนถึง “ยุคลิเกเพชร” ที่ชื่อเรียกได้มาจากเครื่องแต่งกายที่ส่วนใหญ่มีเพชรเทียมประดับ ดูอลังการมากขึ้นหลังจากที่บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีทั้งเสื้อกั๊กปักเพชรทับเสื้อคอกลม สวมสนับเพลา แล้วนุ่งผ้าโจงทับอย่างตัวพระของละครรำ สวมถุงน่อง สีขาว เหมือนลิเกทรงเครื่อง เอาแถบเพชร หรือ “เพชรหลา” มาทำสังเวียนคาดศีรษะ ประดับขนนกสีขาว คาดสะเอวเพชร แถบเชิงสนับเพลาเพชร นอกจากนั้น การแสดงลิเกยุคนี้ยังมีความหลากหลายเพราะนำการแสดงประเภทอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้เป็นที่นิยม เช่น เพลงลูกทุ่ง การนำม้าขึ้นมาขี่รบกันบนเวที การทำฉากให้ดูสมจริง เป็นต้น
       

 ลิเกมี 3 แบบ คือ 

1. ลิเกบันตนเริ่มด้วยร้องเพลงบันตนเป็นภาษามลายู ต่อมาก็แทรกคำไทยเข้าไปบ้าง ดนตรีก็ใช้รำมะนา จากนั้นก็แสดงเป็นชุดๆ ต่างภาษา เช่น แขก ลาว มอญ พม่า ต้องเเริ่มด้วยชุดแขกเสมอ  ผู้แสดงแต่งตัวเป็นชาติต่างๆ ร้องเอง พวกตีรำมะนาเป็นลูกคู่ มีการร้องเพลงบันตนแทรกระหว่างการแสดงแต่ละชุด

ตัวนางนุ่งจีบยกทอง สวมเสื้อแขนกระบอกยาว ห่มสไบปักแพรวพราว สวมกระบังหน้าต่อยอดมงกุฎ  ที่แปลกกว่าการแสดงอื่นๆ คือสวมถุงเท้ายาวสีขาวแทนการผัดฝุ่นอย่างละคร แต่ไม่สวมรองเท้า
2. ลิเกลูกบท  คือ การแสดงผสมกับการขับร้องและบรรเลงเพลงลูกบท ร้องและรำไปตามกระบวนเพลง ใช้ปี่พาทย์ประกอบแทนรำมะนา แต่งกายตามที่นิยมในสมัยนั้นๆ แต่สีฉูดฉาด ผู้แสดงเป็นชายล้วน เมื่อแสดงหมดแต่ละชุด ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลง 3 ชั้นที่เป็นแม่บทขึ้นอีก และออกลูกหมดเป็นภาษาต่างๆ ชุดอื่นๆ ต่อไปใหม่
3. ลิเกทรงเครื่องเป็นการผสมผสาน ระหว่างลิเกบันตนและลิเกลูกบท มีท่ารำเป็นแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำ แสดงเป็นเรื่องยาวๆ อย่างละคร เริ่มด้วยโหมโรงและบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา" เพลงสุดท้ายเป็นเพลงแขก พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตน แล้วแสดงชุดแขก เป็นการคำนับครู ใช้ปี่พาทย์รับ ต่อจากนั้นก็แสดงตามเนื้อเรื่อง  ลิเกที่แสดงในปัจจุบันเป็นลิเกทรงเครื่อง

วิธีแสดงเดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน  การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง  สมัยก่อนมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง  ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
ผู้แสดงเดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง  บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา  การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะนายหอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก  ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น  นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา
เพลงและดนตรีดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียว แต่ดัดแปลงให้ด้นได้เนื้อความมากๆ แล้วจึงรับด้วยปี่พาทย์ แต่ถ้าเล่นเรื่องต่างภาษา ก็ใช้เพลงที่มีสำเนียงภาษานั้นๆ ตามท้องเรื่อง แต่ด้นให้คล้ายหงส์ทอง  ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ได้ดัดแปลงเพลงมอญครวญของลิเกบันตนที่ใช้กับบทโศก มาเป็นเพลงแสดงความรักด้วย 
เรื่องที่แสดงนิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ฉันใดเวือง
การแต่งกายแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง "สมัยของแพง" ก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป แต่บางคณะก็ยังรักษาแบบแผนเดิมไว้ โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ เช่น เครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับหน้าอก สายสะพาย เครื่องประดับไหล่
สถานที่แสดง  ลานวัด ตลาด สนามกว้างๆ โดยปลูกเพิงสูงระดับตา ด้านหน้าเป็นที่แสดง ด้านหลังเป็นที่พักที่แต่งตัว

จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นยุคของ “ลิเกลอยฟ้า” ที่ได้ขยายขนาดเวทีการแสดงออกไปให้ใหญ่โตขึ้น และไม่มีหลังคา จึงเรียกว่าลิเกลอยฟ้า และการแต่งตัวของนักแสดงในยุคนี้ก็เพิ่มเครื่องเพชรให้มากขึ้นไปยิ่งกว่าแต่ก่อน อีกทั้งเรื่องราวยังมีบทเจรจามากขึ้น เนื้อเรื่องดำเนินไปรวดเร็วทันใจ สนุกสนาน ส่วนคณะลิเกชื่อดังตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นก็มีหลายคณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นลิเกรุ่นเก๋าอย่างคณะลิเกหอมหวน คณะลิเกบุญยัง เกตุคง คณะลิเกพงษ์ศักดิ์ สวนศรี หรือคณะลิเกขวัญใจแม่ยกอย่างคณะลิเกไชยา มิตรชัย คณะลิเกกุ้ง สุทธิราช ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีรายได้ในการแสดงต่อคืนนับแสนบาทเลยทีเดียว โดยเฉพาะคณะศรราม-น้ำเพชรที่กำลังเป็นที่นิยมสุดๆในยุคนี้โดยมีลิเกเด็กร้อยล้านอย่าง "แบงค์  ศรราม" เป็นตัวชูโรงอยู่ในขณะนี้


"แบงค์  ศรราม" คือนักแสดงแม่เหล็กของคณะลิเกเด็ก ศรราม น้ำเพชรโดยพี่สาวชื่อ น้ำเพชร เอนกลาภ หรือ น้องเฮน และแม้เขาจะอายุอานามเพียงแค่นี้แต่ความสามารถของเขาไม่ธรรมดาเลยทั้งท่าทาง มือไม้ ลูกคอ น้ำเสียงก้องกังวาน หวานเสียจนเพื่อนรุ่นเดียวกันและแม่ยกรุ่นป้า รุ่นยาย ต้องปรบมือให้เกรียวกราว พร้อมกับทึ่งในความสามารถของหนุ่มน้อยคนนี้โดยน้องแบงค์ ศรรามบอกว่า เล่นลิเกมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบโดยรับบทเป็นตัวตลกไม่มีบทพูดก่อนจนอายุได้ 6 ขวบก็ก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกลิเกเต็มตัวเรื่องแรกคือเรื่อง "ผีเสื้อทอง" และแสดงมาเรื่อยๆส่วนตัวเป็นคนชอบแต่งตัว ชอบแสดงลิเก ชอบร้องเพลงแม้จะมีบทพูดยาวแค่ไหนแต่เขาก็จำได้หมดโดยฉายาแรกของแบงค์ ศรรามในการแสดงลิเก คือ "ม้าทองคำ" ซึ่งมาจากบทม้าในเรื่อง ยุพราชม้าทองที่เขารำท่าม้าได้สวยจนประทับใจผู้ชมแต่ถึงจะทุ่มเทให้กับการแสดงลิเกจนทุกวันกว่าจะได้นอนก็ราวตี2ตี3เพราะต้องแสดงลิเกจนดึกแต่หนุ่มน้อยเงินล้านคนนี้ก็ไม่ทิ้งเรื่องการเรียนแถมคว้าเกรด 4 มาได้เกือบทุกวิชาเลยทีเดียว


Creative Commons License
ลิเกไทย...ไม่มีวันตาย by Chayajohn is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.

ขอขอบคุณ แบงค์ ศรราม  ลิเกเด็กร้อยล้านจากคณะลิเก ศรราม น้ำเพชร


ภูมิปัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ การฝึกฝน การสั่งสมประสบการณ์และการถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาดังเดิมที่เห็นว่าบางอย่างไปตามยุคสมัยและสภาพสังคมปัจจุบันทั้งนี้เพื่อสร้างความสนใจชวนให้ผู้ชมติดตามผลงานจนถึงนิยามชมชอบในศิลปะการแสดงลิเกและส่งเสริมสนับสนุนลิเกต่อไป
      
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : หนังสือแต่งองค์ทรงเครื่อง"ลิเกในวัฒนธรรมประชาไทย"และคณะลิเกศรราม น้ำเพชร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น